Saturday 19 May 2012

ประเภทของคอมพิวเตอร์


ประเภทของคอมพิวเตอร์

       เครื่องคอมพิวเตอร์แบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ และความต้องการในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ในที่นี้สามารถแบ่งคอมพิวเตอร์ตามลักษณะการใช้งาน ได้ดังนี้
              1.แบ่งตามลักษณะของข้อมูล
              2.แบ่งตามขนาดและราคา
       1.แบ่งตามลักษณะของข้อมูล การแบ่งลักษณะข้อมูลสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
              1.1 อนาลอกคอมพิวเตอร์ (Analog Computer) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษใช้กับงานเฉพาะอย่างการทำงานใช้หลักการวัดข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ต้องเป็นสัญญาณทางไฟฟ้าที่มีค่าต่อเนื่อง ซึ่งค่าสัญญาณไฟฟ้าอาจแทนอุณหภูมิ ความเร็วหรือความดัน การรับข้อมูลจะรับจากแหล่งที่เกิดโดยตรงแล้วแสดงผลลัพธ์ออกมาทางจอภาพ หรืออ่านค่าได้จากเครื่องวัดความละเอียดถูกต้องในการคำนวณด้อยกว่าดิจิตอลคอมพิวเตอร์ เพราะไม่สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมากเหมือนกับดิจิตอล เครื่องคอมพิวเตอร์พวกนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจสภาพอากาศและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในวงการแพทย์  เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจวัดสายตา เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น
              1.2 ดิจิตอลคอมพิวเตอร์ (Digital Computer) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน โดยใช้หลักการนับข้อมูลที่ป้อนเข้าไปต้องเป็นตัวเลขและให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขดิจิตอลคอมพิวเตอร์ เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ใช้กับงานได้หลายประเภท มีความละเอียดถูกต้องในการคำนวณมากกว่าอนาลอกคอมพิวเตอร์ สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมากจึงต้องใช้สื่อในการเก็บข้อมูล  เช่น งานบัญชี งานงบประมาณ งานคำนวณเปรียบเทียบหรือหาค่าต่างๆ ทางสถิติ เป็นต้น
              1.3 ไฮบริดคอมพิวเตอร์ (Hybrid Computer) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับงานเฉพาะอย่าง การทำงานจะใช้เทคนิคของอนาลอกควบคมการหมุนของตัวยานอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกดดันอากาศ อุณหภูมิ ความเร็วจะต้องใช้เทคนิคของดิจิตอลในการคำนวณระยะทางเป็นต้น
       2.แบ่งตามขนาดและเวลา สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
              2.1 ไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer)
              2.2 มินิคอมพิวเตอร์ (Mini Computer)
              2.3 เมนเฟรม คอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer)
       การแบ่งประเภทคอมพิวเตอร์แต่ละแบบนั้นขึ้นอยู่กับขนาด ราคา ความเร็วในการทำงาน ประสิทธิภาพในการประมวลผล และขนาดของหน่วยความจำ
              2.1 ไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กที่สุด ราคาถูกที่สุดใช้งานง่าย และนิยมมากที่สุด ราคาของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ จะอยู่ในช่วงประมาณหมื่นกว่า ถึงแสนกว่าบาท ในวงการธุรกิจใช้ไมโครคอมพิวเตอร์กับงานทุกๆ อย่าง ไมโครคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กพอที่จะตั้งบนโต๊ะ (Desk Top) หรือใส่ลงในกระเป๋าเอกสาร  เช่น คอมพิวเตอร์วางบนตัก (Lap Top) หรือโน้ตบุ๊ค (Note Book) ไมโครคอมพิวเตอร์สามารถทำงานในลักษณะประมวลผลได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เรียกว่า ระบบแสตนโอลน (Standalone System) มีไว้สำหรับใช้งานส่วนตัว จึงเรียกเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ได้อีกชื่อหนึ่งว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือเครื่องพีซี (PC : Personal Computer) และสามารถนำเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นๆ หรือเชื่อมต่อกับเครื่องเมนเฟรม เพื่อขยายประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

ไมโครคอมพิวเตอร์
            
              2.2 มินิคอมพิวเตอร์ (Mini Computer) มินิคอมพิวเตอร์ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างปี ค.ศ. 1960-1969 เพื่อใช้กับงานเฉพาะอย่าง  เช่น ใช้ในการสื่อสารข้อมูล ในปัจจุบันมินิคอมพิวเตอร์ เป็นคู่แข่งกับเมนเฟรมในด้านประสิทธิภาพการทำงานและถูกนำมาใช้ในงานประมวลผลคำ งานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและใช้กับโปรแกรมประยุกต์ในการทำงานหลายๆ อย่าง มินิคอมพิวเตอร์คล้ายกับเมนเฟรมคอมพิวเตอร์แต่ขนาดเล็กกว่า ราคาถูกกว่า และบำรุงรักษาง่ายกว่า ราคาอยู่ในช่วงประมาณ 1 ล้านกว่าขึ้นไป มินิคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมโยงกับเครื่องเทอร์มินัลได้หลายๆ เครื่อง มีผู้ใช้งานได้หลายๆ คน ในเวลาเดียวกัน (Multi User)
              ในวงการธุรกิจปัจจุบันสำหรับหน่วยงานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มักนิยมใช้มินิคอมพิวเตอร์มาเป็นตัวหลักและใช้เครื่อง PC เป็นเพียงเครื่องประมวลผลชั้นต้นที่โต๊ะทำงานหรือประจำแผนกเล็กๆ แล้วส่งผลลัพธ์ที่ได้ไปรวบรวม เพื่อเก็บเป็นข้อมูลถาวร และใช้ประมวลผลสรุปสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้วยเครื่องมินิคอมพิวเตอร์  เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทที่ทำธุรกิจทางการเงินการธนาคาร เป็นต้น ปัจจุบันนิยมใช้มินิคอมพิวเตอร์มาทำหน้าที่เป็นไฟล์เซิร์ฟเวอร์แทนพีซีเซิร์ฟเวอร์ในระบบแลน (LAN) เพราะสามารถรับภาระงานได้มากกว่า ความเร็วในการประมวลผลได้สูงกว่ามินิคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันได้ถูกออกแบบให้ใช้กับซีพียูได้หลายๆ ตัว ลักษณะการทำงานเป็นมัลติโปรเซสซิ่ง (Multiprocessing)

มินิคอมพิวเตอร์

              2.3 เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer) เมนเฟรมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ทำงานร่วมกับอุปกรณ์หลายๆ อย่างด้วยความเร็วสูงใช้ในงานธุรกิจขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย ธนาคารและโรงพยาบาล เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ สามารถเก็บข้อมูลที่มีปริมาณมากๆ  เช่น ในการสั่งจองที่นั่งของสายการบินที่บริษัททัวร์รับจองในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงใช้งานกับเครื่องเทอร์มินัล (Terminal) หลายๆ เครื่อง ในระยะทางไกลกันได้  เช่น ระบบเอทีเอ็ม (ATM) การประมวลผลข้อมูลของระบบเมนเฟรมนี้มีผู้ใช้หลายๆ คนในเวลาเดียวกัน (Multi User) สามารถประมวลผลโดยแบ่งเวลาการใช้ซีพียู (CPU) โดยผ่านเครื่องเทอร์มินัล การประมวลผลแบบแบ่งเวลานี้ เรียกว่า Time sharing การใช้เมนเฟรมต้องคำนึงถึงในเรื่องความร้อน อุณหภูมิและความชื้น ซึ่งต้องถูกควบคุมด้วยระบบพิเศษและต้องการทีมงานในการดำเนินงาน โดยปกติบริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ จะให้การฝึกอบรมแก่พนักงานผู้ใช้เครื่องและดูแลการบำรุงรักษาเครื่องเมนเฟรม คอมพิวเตอร์จะมีขนาดใหญ่และราคาแพงกว่ามินิคอมพิวเตอร์
เมนเฟรมคอมพิวเตอร์
 
              2.4 ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถทำงานได้เร็วที่สุด ความเร็วในการประมวลผลและการรับส่งข้อมูลเหนือกว่าเมนเฟรมคอมพิวเตอร์และเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีราคาแพงที่สุด ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มักใช้กับหน่วยงาน ขนาดใหญ่ที่สำคัญและใช้กับงานเฉพาะด้าน สามารถทำการประมวลผลในงานต่างๆ กันในเวลาพร้อมกัน การประมวลผลภายในเวลา 1 นาทีถ้าเทียบกันการทำงานของเครื่องพีซีอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์จัดเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง สถาปัตยกรรมภายในเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผลภายในเป็นจำนวนมาก โดยที่หน่วยประมวลผลในง่ายต่างๆ กัน ในเวลาพร้อมๆ กันด้วยความรวดเร็ว ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมาก่อนและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อเครย์ (Cray) ซึ่งผลิตโดยบริษัท Cray Research เครย์รุ่นแรกเป็นเครื่องที่มีซีพียูเพียงตัวเดียว และใช้งานแบบผู้ใช้คนเดียว
              ต่อมาได้มีการผลิตเครย์ตามมาอีกหลายรุ่น เปลี่ยนมาเป็นระบบผู้ใช้หลายคน เป็นเครื่องมัลติโปรเซสเซอร์มีซีพียูหลายตัว ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ออกมาในปลายปี ค.ศ. 1993 คือ รุ่น T3D ได้เปลี่ยนจากระบบมัลติโปรเซสเซอร์ไปเป็นระบบโปรเซสเซอร์จำนวนมาก ระบบเริ่มต้นที่มีโปรเซสเซอร์ตั้งแต่ 32 ตัว จนถึง 2048 ตัว โดยเพิ่มขั้นละ 2 เท่าตัว จาก 32 เป็น 64, 128, 256, 512, 1024 และ 2048
ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์
 
       สำหรับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพในการผลิตซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มาแข่งกับสหรัฐ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่นมีการผลิตจากหลายบริษัท  เช่น NEC, HITACJI, FUJITSU โดยเฉพาะซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ NEC SXX/44 ซึ่งญี่ปุ่นกล่าวว่า เป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการผลิตซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรก จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1992 ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ถูกใช้งานทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความแม่นยำในการคำนวณสูงมาก โดยเฉพาะการสร้างโมเดลของคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า ซิมูเลชั่น (Simulation) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการสำรวจเกี่ยวกับแผ่นดินไหว การสำรวจแหล่งน้ำมัน การพยากรณ์อากาศ และการคาดการณ์เกี่ยวกับการแพร่กระจายของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ราคาหลายร้อยล้านบาทถึงพันกว่าล้านบาท และในแต่ละปีจะผลิตน้อยมาก เนื่องจากซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง ราคาแพง ดังนั้นในการนำซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มาใช้ควรพิจารณาความเหมาะสมของงานหรือจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้แล้วหลายแห่ง  เช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มี 2 เครื่องสำหรับให้บริการมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยราชการต่างๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี 1 เครื่อง สำหรับให้บริการทางด้านวิชาการงานวิจัยต่างๆ กรมอุตุนิยมวิทยา มี 1 เครื่อง ใช้ในการพยากรณ์อากาศ
       ฉะนั้น สรุปได้ว่าข้อแตกต่างระหว่างไมโครคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่จะแตกต่างกันในด้านความสามารถในการเก็บข้อมูลและความเร็วในการทำงาน เนื่องจากมินิคอมพิวเตอร์และเมนเฟรมมีหน่วยความจำขนาดใหญ่เก็บข้อมูลได้ยาก และสามารถประมวลผลโปรแกรมที่มีความซับซ้อนในเวลาที่รวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถประมวลผลกับโปรแกรมหลายๆ โปรแกรมในเวลาพร้อมกัน และผู้ใช้คอมพิวเตอร์หลายๆ คน สามารถใช้เครื่องพร้อมๆ กันเวลา เดียวกันได้

***อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “ฮาร์ดแวร์และยูทิลิตี้เบื้องต้น”***

No comments:

Post a Comment